ขายของออนไลน์อย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย

0
1400

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันธุรกิจ E Commerce ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก หรือพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ พ่อค้า แม่ค้ายุคดิจิตอล หันมาทำธุรกิจออนไลน์ ค้าขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กันอย่างล้นหลาม ซึ่งแต่ละคนก็งัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาแข่งขันกัน เพื่อจะให้สินค้าของตัวเองขายได้มากที่สุด และแน่นอนว่า ธุรกิจ E Commerce แบบนี้ ถ้าใครมาถูกทาง ก็สามารถทำกำไรให้ชีวิตได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

ขายของออนไลน์

รู้จักธุรกิจ E Commerce

หลายคนอาจยังไม่เข้าใจคำว่า ธุรกิจ E Commerce คืออะไร Priceza Money จะมาเล่าให้ฟัง ธุรกิจนี้ มีศัพท์อย่างเป็นทางการว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ ซึ่งธุรกิจประเภทนี้นิยมใช้ทั้งในองค์กร ไปจนถึงคนทั่วไป ที่ต้องการซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และช่องทางการซื้อขายที่ทันสมัยมากขึ้น เข้าถึงได้ง่าย และสามารถซื้อขาย อัพเดทข้อมูลกันได้ 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการในการใช้คน และทำทุกอย่างจบบนโลกออนไลน์โดยไม่เสียเวลาและขั้นตอนในการผลิต การจ่ายเงิน ที่ยุ่งยากอีกด้วย

ธุรกิจออนไลน์ลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นตัวกำหนด ที่ทำให้คนเข้าถึงการซื้อขายได้ง่ายที่สุด เราจึงเห็นร้านค้าออนไลน์ ผ่าน Facebook, Instragram, twitter, Line ฯลฯ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ทราบหรือไม่ว่า การเปิดร้านขายของออนไลน์ ไม่ได้คิดจะเปิด ก็เปิดเลยง่ายๆ บางสินค้า หรือลักษณะการซื้อขายบางประเภท ก็ยังต้องใช้กฎหมายรองรับ เพื่อไม่ให้กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย Priceza Money จึงรวบรวม รายละเอียดที่เจ้าของร้านค้าออนไลน์มือใหม่จะต้องทราบ ว่าขายของออนไลน์ยังไง ไม่ให้ผิดกฎหมาย เรามาดูกันเลยดีกว่า….

ขายของออนไลน์

เรียนรู้กฎหมายการขายของออนไลน์

1. แสดงราคาสินค้า ห้าม INBOX ถาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์หลายท่านคงทราบแล้วว่า มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบ ราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ นั่นหมายความว่า ร้านขายของออนไลน์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายส่วนนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏ ด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย กรณีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือราคาจำหน่ายสินค้า ก็ต้องราคาที่จ่ายนอกเหนือด้วย พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ผู้ค้าต้องไม่ให้ลูกค้ามาสอบถามราคาผ่าน Inbox เพื่อให้สิทธิการเปรียบเทียบราคากับเจ้าอื่นๆได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

2. จดทะเบียนให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้กฎหมายคุมเข้มในการเปิดร้านขายของออนไลน์มากขึ้น โดยผู้ค้าออนไลน์ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพราะจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนแล้วจะได้เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนเพื่อเป็นการรับประกันว่าผู้ค้ามีตัวตนจริง น่าเชื่อถือ ทำการซื้อขายได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการหลอกลวง และสามารถติดตามตัวเรียกร้องค่าเสียหายได้ และถ้าไม่จดทะเบียน เมื่อตรวจสอบพบ ก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และ ปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ดูอย่างเว็บไซต์ลงขายของออนไลน์ที่ใครๆ ก็รู้จักอย่างเว็บขายดีดอทคอม ก็มีการจดทะเบียนพาณิชย์อย่างถูกต้อง จึงมีผู้ค้ามาลงขายของได้อย่างอิสระ

3. ห้ามฝากร้าน ห้ามโฆษณาโดยไม่รับอนุญาต ในส่วนนี้คงเคยได้ยินกันบ่อย ที่เวลาใครลงรูปในไอจี จะมีคำว่า #ห้ามฝากร้าน #กรุณางดฝากร้าน #ไม่ฝากร้าน หรือข้อความอื่นๆ ที่มีความหมายถึงการไม่อนุญาตในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ บนพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของไอจี แต่ก็ยังมีคนใช้ช่องทางนี้ โดยเฉพาะในไอจีของพวกดารา เซเลป เน็ตไอดอลทั้งหลาย มักจะโดนฝากร้านในคอมเม้นต์อยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ และหากมีการแจ้งลบแล้ว ยังมีฝากอีกถือว่ามีความผิด อีกประเด็นนึง หากมีการส่งอีเมลโฆษณา เข้าไปในอีเมลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับการยินยอม การอนุญาต หรือการตกลงซื้อขายก่อนหน้า ก็ถือว่าเมื่อมีการแจ้ง ผู้ค้าจะต้องได้รับโทษเช่นกัน

ขายของออนไลน์

4. การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ จะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย. ให้ถูกต้องก่อนการจำหน่าย บางครั้งอาจรวมถึงการทำอาหารขาย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากผู้ใดฝ่าฝืน จะได้รับโทษหนัก ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือหากไม่มีฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. สินค้าพรีออเดอร์ต้องจ่ายภาษี การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องดำเนินการด้านภาษีที่ด่าศุลกากรให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเลี่ยงภาษี และจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของราคาสินค้า แต่ถ้าเป็นสินค้าในประเทศไทยอยู่แล้ว ถือว่าไม่มีปัญหาใดๆ

ทั้งหมดนี้คือกฎหมายหลักๆ ที่คิดว่าผู้ค้าออนไลน์ทุกคนควรรู้ และสามารถปฎิบัติตามกันได้ง่ายๆ เพราะแต่ละข้อ กฎหมายล้วนต้องการให้ร้านขายของออนไลน์ เป็นร้านที่ขึ้นตรงอย่างถูกต้อง ขายของได้อย่างสบายใจมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างความเชื่อถือให้กับผู้ซื้ออีกด้วย นับว่าธุรกิจ E commerce หรือ ธุรกิจขายของออนไลน์แบบนี้ แม้ว่าจะสร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะทำตามกฎหมาย เพื่อการค้าขายที่คล่องตัว และอาจจะสร้างมูลค่าบนโลกออนไลน์ได้ในระยะยาวอีกด้วย