วิธีลดหย่อน “ภาษีเงินได้” บุคคลธรรมดา ปี 2560

0
1042

ใกล้สิ้นปีอีกแล้ว เรื่องปวดหัวของพนักงานกินเงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่เราต้องหาทางลดหย่อนมันลงให้จงได้ เพราะหากเราไม่คิดจะทำอะไรแต่เนิ่นๆ เวลาที่เราจะมาทำทีเดียวมันจะฉุกละหุก และทำให้เราวาง แผนผิดพลาดเอาได้ง่ายๆ ผลก็คือเราต้องเสียเงินที่เราไม่ควรจะเสียนั่นเอง … เรามาดูดีกว่าว่า วิธีลดหย่อน “ภาษีเงินได้” บุคคลธรรมดา ปี 2560 มีวิธีการยังไงบ้าง ติดตามกันเลย

วิธีการแรก “รายการที่สามารถหักได้ทันทีมีอะไรบ้าง”

วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการหักลดหย่อนภาษีก็คือ รายการที่หักได้ทันที อันได้แก่
ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 30,000 บาท อันนี้หักได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย
ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 30,000 บาท โดยคู่สมรสต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีรายได้ระหว่างปีนะครับ

ค่าลดหย่อนบุตร 15,000 บาท และ ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร 2,000 บาท โดยต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุตรไม่มีเงินได้ และสามารถหักค่าการศึกษาได้ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงปริญญาเอกกันเลยทีเดียวเชียว
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำนวน 100,000 บาท ได้แก่ ดอกเบี้ยกู้ซื้อที่อยู่อาศัย
ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สูงสุด 120,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 30,000 บาท

 

วิธีลดหย่อน “ภาษีเงินได้” บุคคลธรรมดา ปี 2560

วิธีการที่สอง “วางแผนลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต”

วิธีการต่อมาที่ต้องบอกว่า เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นก็คือการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ที่บอกว่าเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หมายความว่า เราได้ทั้งการลดหย่อนภาษี และได้สิทธิประโยชน์จากการทำประกันชีวิตอีกด้วย โดยเบี้ยประกันชีวิตมีสองประเภท ได้แก่

ประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหน่อยได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
สำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้น ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุดถึง 10,000 บาท แต่ถ้าหากมีรายได้จะหักได้สูงสุด 100,000 บาท
สำหรับคนที่อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือสงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองควรจะเป็นแบบไหน สามารถสอบถามได้จากตัวแทนประกันโดยตรงได้เลยครับ และที่สำคัญอย่าลืมสังเกตใบเสร็จรับเงินค่าประกันด้วยว่า … สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

วิธีการที่สาม “ลดหย่อนภาษีด้วยการอุปการะ หรือ บริจาค”

วิธีการลดหย่อนภาษีอีกแบบ แถมได้บุญอีกด้วยก็คือ เราสามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท หากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราสมารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมเงื่อนไขว่า ต้องเป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
สำหรับเงินบริจาค สามารถนำมาลดหย่อนได้ดังนี้ … เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น และเงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่นๆทั้งหมดแล้ว

 

วางแผนลดหย่อนภาษีเงินได้

วิธีการที่สี่ “ลดหย่อนด้วยการซื้อกองทุนรวม”

เราสามารถนำเงินที่ได้จากการไปลงทุนในกองทุนรวมมาลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้
เงินสมทบ กบข. (ของราชการ) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ของเอกชน) สามารถลดหย่อนได้จำนวนไม่เกิน 500,000 บาท
เงินกองทุยรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF สามารถลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
เงินประกันสังคม ตามจ่ายจริง สูงสุดลดหย่อนได้ไม่เกิน 9,000 บาท
เงื่อนไขเพิ่มเติมที่สำคัญสำหรับค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้ก็คือ ผลรวมของ RMF + กบข. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
โดยเราสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ หรือไปชำระโดยตรงที่กรมสรรพกร สำนักงานในเขตท้องที่ของแต่ละท่าน

อย่างไรก็ตามยังมีวิธีการลดหย่อนอีกมากมาย เช่น การท่องเที่ยวแล้วนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษี การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษี ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปีเป็นหลักครับ หากอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปที่เว็บของกรมสรรพกรได้เลยครับ สิทธิ์ของเราต้องรักษาเอาไว้นะครับ