รวมมาตรการ Covid-19 ผู้มีผลกระทบ มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาอะไรบ้าง

0
2412
รวมมาตรการณ์โควิด19

สถานการณ์โลกตอนนี้ บอกได้เลยว่า แทบจะทั่วโลก กำลังตื่นตัว และ ตื่นตระหนก ไปกับโรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ที่ระบาดกันมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือน สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจที่ต่างทยอยตัว ปิดกิจการหนีไวรัส ให้ทุกคนป้องกันตัวเอง ด้วยการอยู่แต่ในบ้าน ไม่ไปแพร่เชื้อต่อที่ไหน สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงระยะเวลาไม่กี่วัน ลูกจ้าง นักธุรกิจ ผู้ประกอบ และแทบทุกคนในประเทศ จึงพร้อมใจกันหยุดเชื้อ เพื่อชาติ กักตัวเองอยู่ในบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีหยุดการแพร่เชื้อที่ดีที่สุด

เมื่อผลกระทบนี้ทำให้คนไทยหลายอาชีพขาดรายได้ เราจะมาเปิดมาตรการเยียวยาที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในตอนนี้ ว่าเรามีสิทธิ์รับเงินเยียวยาส่วนไหนได้บ้าง มาดูกันเลย

ประกันสังคม

เยียวยาที่ 1 มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จากประกันสังคม

สำหรับผู้ที่ถือสิทธิ์ผู้ประกันตน จากประกันสังคม สามารถยื่นคำร้องเยียวยาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้

  • ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้กับนายจ้าง-ผู้ประกันตน อัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน เป็นจำนวนเงินอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้าง โดยให้ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
  • กรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายให้ กรณีว่างงาน เป็นจำนวนเงินอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้าง โดยให้ไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
  • จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนเพิ่ม แบ่งเป็นสองกรณี คือ กรณีว่างงานจากการลาออก ประกันสังคมจ่าย เป็นจำนวนเงินอัตราร้อยละ 45 ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และ กรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง จ่ายเป็นจำนวนเงินอัตราร้อยละ 70 ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

ซึ่งสิทธิการเยียวยาดังกล่าว สามารถติดต่อและยื่นคำรองได้โดยตรงกับ สำนักงานประกันสังคม

เว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน

เยียวยาที่ 2 มาตรการดูแล และเยียวยา แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

มาตรการนี้ กำลังมาแรงมาก สำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ แรงงานลูกจ้างทั้งหลาย ที่ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ซึ่งตามมาตรการ ได้เคาะเป็นเงินชดเชย 5,000 บาท เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 เดือน (รวม 15,000 บาท) ซึ่งมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้

  • ต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อตรวจคุณสมบัติผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (เริ่มวันที่ 28 มีนาคมนี้)
  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
  • ไม่เป็นผู้มีสถานะนักเรียน หรือ นักศึกษา ณ วันลงทะเบียน
  • ไม่เป็นข้าราชการ อาชีพเกษตรกรรม (รัฐมีมาตรการช่วยเกษตรกรอยู่แล้ว) หรือ ไม่ทำงาน
  • เป็นลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจที่ถูกสั่งปิด อาทิ ผับ/บาร์, ร้านทำผม, นวด, สปา, ขายของในตลาดที่ถูกสั่งปิด หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ คือ วินมอเตอร์ไซค์, แท็กซี่, ธุรกิจท่องเที่ยว, ไกด์, มัคคุเทศก์
  • รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี (รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 150,000 บาท)
  • ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33)
  • หากเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม แต่มีคุณสมบัติไม่ครบ ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม สามารถเข้าร่วมโครงการได้*
  • ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 (อาชีพอิสระที่ส่งประกันสังคมเอง)
  • อาชีพอิสระ หากมีอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพเสริม ถ้าเลือกรับเงินชดเชยโครงการนี้ จะไม่รับการช่วยเหลือด้านการเกษตรในอนาคต
  • อาชีพอิสระ ไม่ต้องกรอกข้อมูลนายจ้าง แต่ต้องระบุข้อมูลสถานประกอบการให้ชัดเจน

ในส่วนของการรับมาตรการเยียวยานี้ ธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าโครงการ โดยตั้งเป้าไว้ทั้งสิ้น 3 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เมษายน ถึง มิถุนายน 2563 เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ จะได้รับการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

เยียวยาที่ 3 มาตรการคือเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (มิเตอร์ไฟฟ้า)

สำหรับมาตรการนี้ ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินคืน จะเป็นส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก รับคืนตั้งแต่ 300-6,000 บาท โดยมีรายละเอียดการรับคืน ดังนี้

  • เตรียมข้อมูล ชื่อ-นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน
  • เข้าเว็บไซต์ตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียน https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/
  • กรอกข้อมูล ชื่อ-นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน แล้วคลิก “ตรวจสอบข้อมูล” เช็คข้อมูลให้ถูกต้องอีกครั้ง
  • กรอกเบอร์โทรศัพท์ และ เลือกช่องทางการรับเงิน 4 ช่องทาง คือ บัญชีพร้อมเพย์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัญชีธนาคาร หรือ ติดต่อรับเงินที่สำนักงานการไฟฟ้า
  • เมื่อลงทะเบียนแล้ว จะได้รับ SMS ยืนยันผลการลงทะเบียน และแจ้งผลการคืนเงินไฟฟ้าให้ทราบขนาดมิเตอร์และเงินประกัน จะได้รับโดยประมาณ ดังนี้
  • บ้านพักขนาดเล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าน้อย มิเตอร์ขนาด 5(15) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท
  • ขนาดมาตรการที่ครัวเรือนใช้ มิเตอร์ขนาด 15(45) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท
  • บ้านพักขนาดใหญ่ เครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะ มิเตอร์ขนาด 30(100) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท
  • ระดับมิเตอร์ขนาด 15(45) เฟสสาม (มีส่วนน้อยที่จะได้รับ) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท

เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2563 ไม่ต้องแย่งกันลง เพราะเป็นสิทธิ์ที่ได้รับคืนทุกคน และจะเริ่มรับเงินคืนได้ ตั้งแต่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

คืนเงินประกันมิเตอร์น้ำ

เยียวยาที่ 4 มาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์ ลดค่าน้ำประปา

สำหรับผู้วางเงินประกันการใช้น้ำประปา สามารถลงทะเบียนขอคืนเงินประกันมิเตอร์ ลดค่าน้ำประปา เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • แจ้งความประสงค์รับเงินคืน ผ่านช่องทาง ทางออนไลน์ อาทิ application MWAonMobile หรือ www.mwa.co.th  และช่องทางอื่นๆ เพื่อขอรับเงินคืน
  • ติดต่อขอรับเงินคืนที่สำนักงานประปาสาขาของ การประปานครหลวง ทั้ง 18 สาขา
  • การประปานครหลวง ลดค่าน้ำประปา 3% ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือน กรกฎาคม 2563
  • ขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้ที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย และ ยังสามารถผ่อนชำระ ได้ไม่เกิน 6 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ เดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2563 โดยติดต่อที่สำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ใช้น้ำ
  • คืนเงินประกันให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป (วิธีรับเงินคืนเป็นไปตาม กปน. กำหนด)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 1125 สายด่วนการประปานครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

     ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการเยียวยา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หากใครตรวจสอบแล้วเข้าเกณฑ์สามารถรับสิทธิ์เยียวยาตามนี้ได้เลย แต่ที่แน่ๆ ช่วงไวรัสระบาดแบบนี้ ดูแลตัวเองให้กันมากๆ สวมหน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์ล้างมือ เมื่อจำเป็นออกไปข้างนอก ถ้าให้ดีกว่านี้ อยู่บ้าน Work From Home ช่วยลดการระบาด ก็จะมีหนทางกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน!