ลงทุนกองทุนรวมให้ชนะเงินเฟ้อทำยังไง

0
1212

 ใกล้สิ้นปี 2017 แล้วนะ … ปลายปีแบบนี้สิ่งที่หนีไม่พ้นก็คือ การที่เราต้องเลือกซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีนั่นเอง … การซื้อกองทุนรวมไม่ได้มีแต่ใช้ลดภาษีแต่เพียงอย่างเดียวนะ แต่การเลือกซื้อกองทุนรวมยังมีประโยชน์คือ ใช้เอาชนะเงินเฟ้อได้ด้วย แต่จะลงทุนกองทุนรวมให้ชนะเงินเฟ้อทำยังไง ติดตามกันเลยดีกว่า

 

1. “ควรเลือกซื้อกองทุนที่มีผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ดีมาโดยตลอด”

นั้นสิ่งสำคัญ ก็คือ ผลการดำเนินงานย้อนหลังกลับไปของแต่ละกองทุนรวม ซึ่งมันคือ ภาพสะท้อนของการทำงานจริงๆ ของผู้จัดการกองทุนรวมและทีมของพวกเขา

โดยนักลงทุนอย่างเราๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลที่เป็นผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุนย้อนหลังได้โดยขอเอาโดยตรงจากบริษัทหลักทรัพย์ หรือเข้าไปที่เว็บไซค์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เหล่านั้นเพื่อดาวน์โหลด ผลการดำเนินงานย้อนหลัง หรือสามารถเข้าไปที่เว็บของ Morning Start (Search หาได้เลย) เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุนที่เราสนใจ

ลงทุนกองทุนรวมให้ชนะเงินเฟ้อทำยังไง

2. “ติดตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมอย่างใกล้ชิด”

สิ่งที่เราจะทำได้ต่อมาก็คือ เราต้องหมั่นติดตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมอย่างใกล้ชิด โดยเราสามารถเข้าไปดูนโยบายการลงทุนได้ที่เว็บไซค์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่เราเลือกลงทุน

โดยต้องดูว่า เขาลงทุนกับอะไร หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ หรือ Money Market หากเขาลงทุนในหุ้นสามัญเราก็ต้องดูว่าเขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน ตัวไหน เช่น บางกองทุนชอบหุ้นเติบโต จึงลงทุนในกลุ่มค้าปลีกที่มีการเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา หรือบางกองทุนอาจลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพ (Health Care) ที่ผลการดำเนินงานก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

การเลือกซื้อกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจโดยรวม จะทำให้กองทุนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะ “เติบโต” มากกว่าการที่ผู้จัดการกองทุนเหล่านั้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่โตนั่นเอง

3. “ดูผู้จัดการกองทุน และทีมของเขา”

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ เราต้องดูผู้จัดการกองทุน และทีมของเขา โดยผู้จัดการกองทุนเก่งๆ บางคน หากลาออกไปจากกองทุนเดิม หลายครั้งที่กองทุนนั้นๆ ทำผลงานดีมาโดยตลอดกลับตกต่ำลง

ยกตัวอย่างจากผู้จัดการกองทุนต่างประเทศชื่อดังอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” เมื่อเขาลาออก กองทุนที่เขาเคยบริหารก็ทำผลงานได้ย่ำแย่ลงมากอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นผู้จัดการกองทุน และทีมของเขาจึงสำคัญไม่แพ้นโยบายการลงทุน

แต่หากมันยุ่งยากมาก และเราไม่มีข้อมูลมากพอสำหรับจะศึกษาไปถึงตัวของผู้จัดการกองทุนเหล่านั้น การดูที่นโยบายการลงทุนก็เป็นทางเลือกที่ดี ถ้าผู้จัดการกองทุนลาออกไป แต่นโยบายการลงทุนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจนเกินใน ในระยะสั้นๆ ก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

 

4. “กำหนดกลยุทธ์การลงทุนของเราเอง”

เมื่อเราศึกษากองทุนที่เราสนใจอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราก็ต้องมากำหนดกลยุทธ์การลงทุนของเรา โดยกลยุทธ์การลงทุนยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่ชอบทำก็คือ การไปซื้อกองทุนรวมในช่วงปลายปี ซึ่งสำหรับแนวทางนี้ถือว่าไม่ได้แย่มากมายอะไร แต่ลองคิดดูซิว่าถ้าเราต่างก็แย่งกันไปซื้อกองทุนรวมพร้อมๆ กัน อะไรจะเกิดขึ้น

หากมีการแย่งไปซื้อกองทุนรวมพร้อมๆ กันในช่วงเวลาหนึ่งๆ จะทำให้กองทุนเหล่านั้นมีราคาขึ้นแบบหวือหวา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ราคามันจะปรับตัว “แพงขึ้น” ถ้าเราไปซื้อกองทุนรวมที่ราคาต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แทนที่เราใช้เงินก้อนเดียวกันซื้อได้หลายๆ หน่วย เรากลับซื้อได้น้อยลง และจะส่งผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของเราเอง

กลยุทธ์การลงทุนให้งอกเงย

กลยุทธ์ที่น่าทำกว่า ก็คือ การซื้อถัวเฉลี่ยทุกๆ เดือน … สมมติว่าเราต้องการสะสมกองทุนรวมปลายไปให้ได้ 30,000 บาท การที่เราทยอยซื้อไปทีละ 2,000 บาทต่อเดือน พอปลายปีเราค่อยอัดเพิ่มให้ครบสามหมื่นตามสิทธิ์ที่ใช้ลดหย่อนภาษี (สำหรับคนที่ต้องลดหย่อนเยอะ ก็ต้องซื้อเยอะกว่านี้) จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราลดลง

สาเหตุเป็นเพราะ การซื้อเฉลี่ยต้นทุน เวลาราคาต่อหน่วยของกองทุนรวมปรับขึ้น เราก็จะได้ซื้อน้อยๆ แต่ถ้าราคาต่อหน่วยของกองทุนรวมปรับลงเราก็จะซื้อได้เยอะ ซึ่งมันผิดกับการที่เราไปซื้อทีเดียวปลายปีที่ราคาต่อหน่วยของกองทุนรวมมีแนวโน้มจะปรับขึ้น ทำให้เราอาจซื้อหน่วยการลงทุนได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง

 

5. “พยายามอย่าขายกองทุนออก ปล่อยให้มันทบต้น”

หลายคนพอถึงกำหนดครบเวลาก็มักจะขายกองทุนออกมา เพื่อนำเงินไปซื้อกองทุนใหม่ เป็นการหมุนเงินไปในตัว ข้อดีก็คือ เราไม่ต้องใช้เงินมากในการซื้อกองทุนในปีถัดๆ ไป แต่ข้อเสียก็คือ มันจะทำให้มูลค่ารวมของพอร์ตกองทุนรวมของเราลดลงได้

อีกวิธีการที่เป็นทางเลือกก็คือ พยายามอย่าขายกองทุนออก แต่กลับต้องซื้อเพิ่มเข้าไปปล่อยให้มันทบต้น วิธีการนี้อาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดในระยะสั้น เนื่องจากมีเงินใช้จ่ายในปัจจุบันน้อยลง แต่มันจะดีในระยะยาว เพราะเมื่อกองทุนของเราใหญ่ขึ้น เวลามันทบต้นมันจะรวดเร็วขึ้นมาก ยิ่งผลตอบแทนจากการลงทุนรวมโดยเฉลี่ยจากสถิติที่ผ่านมาราว 5-10% ต่อปี มันสามารถทำให้พอร์ตกองทุนรวมของเราโตเป็นสองเท่าภายในเวลาไม่ถึงสิบปี

    อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ มีโอกาสที่กองทุนรวมจะลดลงก็มี โดยสถิติภาพรวมแล้ว กองทุนรวมจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างแน่นอน