ดัดแปลงสภาพรถ ประกันคุ้มครองมั้ย และทำยังไงไม่ให้ผิดกฏหมาย

0
4402
ดัดแปลงสภาพรถ แต่ประกันยังคุ้มครอง

หลายคนที่รักการแต่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ก็คงอยากดัดแปลงสภาพรถของตัวเอง ให้สวยเท่ ดูดี ตามสไตล์ของแต่ละคน แต่ถึงแม้จะชอบแต่งรถยังไง ก็ไม่ควรลืมว่า หากจำเป็นต้องมีประกันรถยนต์ด้วยแล้ว ก็ควรตรวจเช็คให้ดีก่อน ว่ากฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะสามารถคุ้มครองตามประกันอะไรได้บ้าง และประกันรถยนต์ไม่คุ้มครอง เมื่อดัดแปลงสภาพรถอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการจ่ายเบี้ยประกันคุ้มครองไป ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า ดัดแปลงสภาพรถ ประกันคุ้มครองมั๊ย และทำยังไงไม่ให้ผิดกฎหมาย

เมื่อดัดแปลงสภาพรถ ประกันคุ้มครองหรือไม่

การแต่งรถ หรือการดัดแปลงสภาพรถ จะยังคงได้รับประกันคุ้มครอง ตามที่ตกลงกันไว้กับบริษัทประกัน เพียงแต่มีข้อจำกัด ที่ชัดเจนว่า ดัดแปลงแบบไหน ยังคุ้มครอง และดัดแปลงแบบไหน ไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยที่ยังคงได้รับการคุ้มครองจากประกัน จะต้องเป็นรถที่ดัดแปลงเพื่อความสวยงาม เช่น การติดตั้งอุปกรณ์แต่งรถ การเปลี่ยนยางเป็นล้อแม๊ก การเปลี่ยนไฟแต่งรถ การติดตั้งสเกิร์ทรถยนต์รอบคัน การติดสติ๊กเกอร์ การแต่งทั่วไป เพื่อความสวยงามของรถเหล่านี้ จะยังถือว่าได้รับความคุ้มครองจากประกันตามปกติ แต่ควรแจ้งกับบริษัทประกันให้รับทราบว่าเราตกแต่งส่วนไหนไปบ้าง โดยอาจจะถ่ายรูปพร้อมใบเสร็จ ไปให้บริษัทประกันพิจารณาดูก่อน ว่าการทำแบบนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการคุ้มครอง

ส่วนกรณีที่ใครนำไปตกแต่งเพื่อความสวยงามแล้ว ไม่ได้แจ้งกับบริษัทประกันไว้ เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบก่อน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ประกันจะชดเชยให้เฉพาะค่าเสียหายตามอะไหล่เดิมที่ออกจากศูนย์ แต่หากแจ้งแล้ว และได้รับการพิจารณา ประกันจะคุ้มครองอุปกรณ์ที่ตกแต่งรถมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท หากเกินจากนี้ต้องเสียเบี้ยประกันเพิ่มเอง

ดัดแปลงสภาพรถยนต์ แบบไหนไม่ได้รับความคุ้มครอง

เมื่อดัดแปลงสภาพรถยนต์ มันก็มีหลายส่วน ที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมันเป็นการดัดแปลงที่ผิดกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองเลย มีดังนี้

ดัดแปลงรถยนต์เพื่อเพิ่มความเร็ว

ตรงนี้ถือว่าผิดกฎหมาย หากไปยกเครื่องยนต์ใหม่เพื่อเพิ่มความเร็วแรง เกิดมาตรฐานของเครื่องยนต์ทั่วไป บางคนดัดแปลง เพื่อใช้เป็นรถแข่ง ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลต่อความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ การดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์แบบนี้ มักจะไม่ได้รับการพิจารณาคุ้มครองจากประกัน

การแต่งรถให้ยกสูงขึ้น หรือโหลดต่ำเกินไป

ถ้าจะใช้ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ก็จะมีกำหนดความสูง ต่ำระบุไว้ คือ รถต้องไม่โหลดเตี้ยต่ำกว่า 40 เซนติเมตร และต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร ซึ่งหากสูงไปกว่านี้ หรือต่ำไปกว่านี้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที โดยมีค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันอีกด้วย

ดัดแปลงท่อไอเสียให้ดัง

นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เหล่านักซิ่งชอบไปดัดแปลงกัน ซึ่งจะทำให้เสียความคุ้มครองจากประกันไป อีกทั้งยังผิดกฎหมายเมื่อมีเสียงดังเกิน 100 เดซิเบล เป็นเหตุให้รบกวนผู้อื่น

การดัดแปลงแผ่นป้ายทะเบียน

ตรงนี้บอกเลยว่า ใครที่ชอบดัดแปลงป้ายทะเบียนให้มีลักษณะที่ผิดแปลกไปจากมาตรฐานของไทย หรือพยายามบดบังแผ่นป้ายทะเบียนไม่ให้มองเห็น โดยใส่แฟชั่นลงไป ยิ่งผิดกฎหมายรุนแรง มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับเลยทีเดียว

ในกรณีติดตั้งก๊าซ LPG / NGV

จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกัน เมื่อไม่ได้แจ้งให้ทางประกันทราบล่วงหน้า ว่ามีนำรถไปติดตั้งก๊าซ LPG / NGV แต่หากมีการแจ้งล่วงหน้าให้บริษัทประกันพิจารณา จะยังคงได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามกรมธรรม์

กฎหมายรถกระบะเสริมข้าง หรือการดัดแปลงสภาพรถกระบะในรูปแบบต่างๆ

ซึ่งเป็นการดัดสภาพนอกเหนือจากที่โรงงานใส่มาให้ จะต้องทำการแจ้งต่อนายทะเบียนทุกครั้ง เมื่อมีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ และกฎหมายตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 มาตรา 5 และมาตรา 15 ด้านหน้าจะต้องไม่ยื่นเกินหน้าหม้อรถ ส่วนด้านหลังยื่นได้ไม่เกิน 2.50 เมตร ความสูงให้บรรทุกจากพื้นทางได้ไม่เกิน 3.00 เมตร และความกว้างบรรทุกได้ไม่เกินความกว้างตัวรถ ทั้งนี้ หากไม่มีการแจ้งในการดัดแปลงรถเพิ่มเติมต่อนายทะเบียน จะถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.รถยนต์

ทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

สรุปจากที่อธิบายไปก่อนหน้า เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น

  • ไม่นำแผ่นป้ายทะเบียนมาดัดแปลงตัดต่ออัดกรอบใหม่เป็นป้ายยาว 
  • ไม่ติดป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นเอง หรือป้ายปลอมซึ่งไม่ใช่เอกสารที่ทางราชการกำหนดให้
  • ไม่ทำรถให้โหลดเตี้ยหรือสูงเกินไปตามกฎหมายกำหนด
  • ไม่เปลี่ยนสีฝากระโปรงเป็นสีดำ หรือสีอื่น ที่ไม่ตรงกับสีตัวรถ โดยไม่แจ้งกรมการขนส่ง
  • ไม่เปลี่ยนท่อไอเสียใหม่ ที่มีความดังเกิน 100 เดซิเบล
  • ไม่ทำไฟหน้าหลากสี ที่ผิดเพี้ยนไปจากกำหนดกฎหมาย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้อื่นได้ง่าย
  • ไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ให้แรงเกินมาตรฐานของตัวเครื่องยนต์ทั่วไป
  • ไม่เปลี่ยนเป็น เบาะแต่ง หรือเบาะไฟเบอร์ ที่มีขนาดเกินมาตรฐาน หรือถอดเบาะใดๆของเครื่องโดยสารออก
  • ไม่ถอดกระจกมองข้าง หรือมองหลังออก แล้วใส่กระจกเล็กๆ ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

ดังนั้น หากอยากดัดแปลงสภาพรถแล้วได้รับความคุ้มครอง และถูกกฎหมาย ควรศึกษาข้อจำกัดจากบริษัทประกันรถยนต์ให้ดีก่อน รวมถึงศึกษากฎหมายของกรมการขนส่งทางบก เรื่องการแก้ไขดัดแปลงสภาพรถยนต์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาด จนกลายเป็นเสียค่าปรับ แถมยังมีสิทธิ์ถูกจับด้วย