เดินตามรอย “พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 นักออมเงิน”

0
2489

ในวันที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่เคารพบูชายิ่ง “พ่อของแผ่นดิน” … ในวันที่น้ำตาของคนไทยนองหน้า ฟ้าฝนที่ตกลงมาก็เหมือนดังความเศร้าโศกของคนไทยทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม … พวกเราก็ต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง

การเดินตามรอยของพระองค์ท่าน ถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรกระทำ สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงให้โอวาทไว้กับเราก็คือ “หลักการออมเงิน” และแน่นอนที่สุดว่า พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ นักออมเงิน บทความนี้ขอน้อมนำเอาแนวคิดของการออมเงินที่พระองค์ท่านทรงดำรัสเอาไว้ ดังต่อไปนี้

 

เดินตามรอย “พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 นักออมเงิน”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502

กล่าวไว้ว่า …
“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

หากเราพินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน จะพบว่า … การที่คนหนึ่งคน ครอบครัวหนึ่งครอบครัวที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมสามารถประหยัด อดออม สร้างความมั่นคงทางการเงินได้นั้น นอกจากจะดีกับตัวเราเองแล้ว ยังส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติด้วย หากเรามีหน่วยเล็กๆ เป็นล้านๆ คน ล้านๆ ครอบครัวทำได้ ก็จะเกิดความมั่นคงทางการเงินของทั้งประเทศไปเองโดยอัตโนมัติ ถือเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งมากครับ

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502

“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆจนหมด”

พระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้กับพวกเราในห้วงวาระขึ้นวันขึ้นปีใหม่ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่เราควรน้อมนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง และเป็นข้อที่ต่อเนื่องจากพระราชดำรัสในข้อแรก นั่นคือ เมื่อเรารู้จักอดออมจนมีเงินที่มากพอต่อความมั่นคงทางการเงินของเรา หรือครอบครัวของเราเองแล้ว เราสามารถนำเงินไปฝากธนาคาร ในสมัยก่อนธนาคารหลักๆ คงหนีไม่พ้น ธนาคารออมสิน ที่เราคงได้เห็นภาพของเด็กๆ นำเงินไปฝากแม้จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่พอนานวันเข้า มันก็จะพอกพูนและมากขึ้นมาได้
เมื่อนำเงินไปฝากธนาคารมากเข้า จนเกิดความมั่ นคงทางการเงินแล้ว เรายังสามารถนำดอกผลของเงินฝากก็คือ “ดอกเบี้ย” มาใช้จ่าย เพื่อไม่ให้กระทบกับเงินออมของเราได้อีกด้วยครับ

 

หลักการออมเงินของในหลวงรัชกาลที่ 9

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”

พระราชดำรัสนี้เป็นพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่า และทรงประทานให้ไว้กับคนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” 2540 นั่นก็คือ “ความพอเพียง”

คนเราถ้ารู้จัก และเข้าถึงความพอเพียง เท่ากับเรากำจัดความโลภในใจเรา ความพอเพียงเป็นศิลปะการจัดการความโลภที่ละเอียดลึกซึ้ง เมื่อเรารู้จักพอ ตัดความอยากความโลภในใจเราออกไปได้ ใจเราจะนิ่ง และสามารถทำการใหญ่ได้ ด้วยจิตใจที่หนักแน่น ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสความโลภ
หากเราทุกคนมีความพอเพียง เราก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อย มีความพอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภ ใจเราก็เป็นสุข จะทำการงานอะไรก็ราบรื่น ไม่หุนหันพลันแล่น แม้แต่การออมเงิน เก็บเงิน เราก็ไม่นำเงินที่เก็บออมมาได้อย่างยากลำบากไปลงทุนด้วยความโลภจนเกิดความเสียหาย และร้ายแรงตามมาได้ คำสอนของพระองค์ท่านเรื่องความพอเพียง จึงถือเป็นสุดยอดโอวาทที่พระองค์ท่านได้ให้ไว้ เป็นมรดกทางความคิดที่ล้ำค่าสำหรับคนไทยทุกคน

จากคำสอนของพระองค์ท่านซึ่งเป็นดัง พ่อของแผ่นดิน ที่พระองค์ท่านทรงให้ไว้กับพวกเรา ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่จะช่วยให้พวกเราคนไทยทุกคน สามารถประคับประคองนาวาชีวิตให้ผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ไปได้ และที่สำคัญเรื่องของการออมนั้นจะทำให้เราเกิดความมั่นคงทางการเงิน จนก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งในชีวิตของเราได้ไม่ยากเลยครับ