ธุรกิจ E-Commerce ต้องเสียภาษีทุกคนหรือไม่

0
1083

การประกอบกิจการอะไรซักอย่าง แน่นอนที่สุดว่า หากเรามีกำไรก็ย่อมต้องเสียภาษี สำหรับภาษีที่ต้องจ่ายไปนั้น ถือว่าเราได้ช่วยเหลือสังคมโดยภาพรวม เอาไปพัฒนาประเทศชาติ เพราะหากเราไม่เสียภาษี สังคมโดยรวมก็อาจจะไปต่อไม่ได้ การเสียภาษีจึงเป็นทั้งหน้าที่ และจิตสำนึกความรับผิดชอบที่เราทุกคนพึงมี

สำหรับธุรกิจ e commerce ต้องเสียภาษีทุกคนหรือไม่? คำถามคาใจใครหลายคนโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือคนที่ต้องทำธุรกิจออนไลน์อยากรู้ว่าเราต้องเสียภาษีตรงจุดนี้หรือไม่อย่างไร มาติดตามบทความนี้เพื่อคลายข้อสงสัยกังวลใจกันดีกว่าครับ

 

ธุรกิจ e commerce ต้องเสียภาษีทุกคนหรือไม่

“กิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมีอะไรบ้าง”

สำหรับกิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนั้น ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นกิจการที่ประกอบธุรกิจบนโลกจริงๆ เท่านั้น แต่กิจการบนโลกเสมือน หรือกิจการออนไลน์อย่าง e commerce ถ้าทำมาหาได้แล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษีเหมือนกันครับ
โดยกรมสรรพกรได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า … ผู้ประกอบการ e-Commerce ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีรายได้จากการขายสินค้า หรือ ให้บริการแก่ผู้ซื้อที่อยู่ ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ประกอบการค้าขายที่มีหน้าร้านทั่วไป ต้องนำรายได้นั้นมารวมคำนวณยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และมีหน้าที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามเงื่อนไขของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามกิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีที่เป็นการค้าขายออนไลน์นั้นมีเงื่อนไขต่างๆ และรูปแบบการเสียภาษี ดังต่อไปนี้

แบบแรก “ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา”

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ต้องนำเงินได้จาก e-Commerce ไปรวมคำนวณกับเงินได้จากแหล่งอื่นถ้ามี เช่น เงินเดือน ดอกเบี้ย โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.94 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายนของปี และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป

แบบที่สอง “ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล”

ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยเสียภาษีจากำไรสุทธิ ตามเงื่อนไข ที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หากกิจการขาดทุนสุทธิไม่ต้องเสียภาษี โดยยื่นแบบแสดงรายการ

1. แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
2. แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50) ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 

กิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนิติบุคคล

สำหรับกิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนิติบุคคลแบ่งได้ดังต่อไปนี้

กิจการ SMEs มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้จากการขายหรือให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ได้จดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
กิจการ SMEs มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้จากการขายหรือให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้จดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีทั่วไป ที่ไม่ใช่กิจการ SMEs

แบบที่สาม “เสียในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม”

สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในประเทศไทย หรือผู้นำเข้าสินค้า โดยผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่มีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าแม้เราจะประกอบกิจการที่เป็นการค้าออนไลน์ เราก็ควรเสียภาษีให้ถูกต้อง บางครั้งเราอาจขายของในเว็บ หรือเรารับรีวิวสินค้า รับค่าโฆษณาขายสินค้า เราก็ควรต้องเสียภาษี ซึ่งเราสามารถขอใบเสร็จรับเงินจากทางลูกค้าของเราเพื่อนำไปใช้คำนวณในฐานภาษีของเราตามรูปแบบต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น