สังคมไร้เงินสด ดียังไง ทำแล้วได้อะไร

0
922

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Cashless Society” หรือสังคมไร้เงินสด มันแปลว่าอะไร … คนในสังคมจะไม่ใช้เงินกันแล้วหรือ? ถ้าไม่ใช้เงินสด แล้วจะใช้อะไร ที่สำคัญการเป็นสังคมไร้เงินสด ดียังไง ทำแล้วได้อะไร? มาหาคำตอบกันดีกว่า

สำหรับระบบการชำระเงินของโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และดูเหมือนว่ามันจะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ก็มุ่งไปสู่การใช้ e-payment หรือการบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทดแทนเงินสดมากขึ้นทุกวัน

โดยเราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ และมันได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราก็มีมาแล้ว ซึ่งกลุ่มที่มักชอบใช้อาจเป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่จะใช้ Alipay จ่ายเงินแทนเงินสดในร้านสะดวกซื้อ แม้แต่ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารดังๆ เดี๋ยวนี้ก็จ่ายเงินผ่าน Alipay ได้แล้ว

สำหรับคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับ Alipay เท่าไหร่ แต่เราคงพอจะคุ้นเคย และรู้จัก True Money M-Pay J-Money หรือ Rabbit Card ขอบอกว่าบัตรเหล่านี้ก็คือการใช้เงินแบบไร้เงินสดด้วยกันทั้งสิ้น … ทว่า … หากประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสดกันหมดจะดีหรือไม่ดีอย่างไร เรามาดูเป็นข้อๆ กันเลยดีกว่า

 

Cashless Society สังคมไร้เงินสด

 

ข้อแรก “ผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก และผู้ใช้บริการ”

ลองคิดดูว่า เวลาเราไปซื้อของในร้านค้าปลีก แล้วต้องจ่ายเป็นเงินสดมันรู้สึกยุ่งยากขนาดไหน … ไม่ว่าจะเป็นเงินทอนที่บางคนอาจไม่ชอบได้เหรียญเพราะมันหนัก หรือตอนที่ยื่นแบ็งค์พันแล้วคนขายไม่มีตังค์ปลีกมาทอนให้ก็จะหน้าบูดใส่เรา ว่าปัญหาเหล่านี้หลายคนต้องเคยเจอมาก่อนไม่มากก็น้อย จริงมั้ย

แต่หากเราจ่ายเงินผ่านบัตรอะไรซักอย่างที่ไม่ต้องจ่ายเงินสด อาจเป็นบัตรที่เราเติมเงินเข้าไปล่วงหน้า หรือแม้แต่บัตรเครดิต เดบิต เวลาจ่ายเงินก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ใช้บัตรแตะ หรือรูด ก็จ่ายเงินได้แล้ว ไม่ต้องสะสมเหรียญ ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอนให้ยุ่งยาก

แต่ข้อเสียก็มีนะ เพราะเวลาที่เราจ่ายเงินผ่านบัตรต่างๆ มันจะทำให้เรา “เพลิดเพลิน” จนลืมไปว่าเราใช้เงินจริงๆ นะ ทำให้เงินมันถูกใช้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่เอาเงินอนาคตมาใช้เป็นเรื่องอันตรายต้องระวังให้มากเข้าไว้

 

ข้อที่สอง “สังคมไร้เงินสด จะทำให้เกิดธุรกิจ และธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ”

หากสังคมเราเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ก็จะมีธุรกิจ หรือธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ ล้ำๆ เกิดขึ้นมา ซึ่งเราจะเรียกมันว่า “ฟินเทค” หรือ FinTech ที่จะเป็นกิจการใหม่ประเภท StartUp ทำให้เกิดงานใหม่ๆ ในสังคมของเราขึ้นมา ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นจาก Application ในโทรศัพท์มือถือ …

ใครจะรู้ว่าแม้แต่การใช้บัตร ก็อาจจะล้าสมัยไปเลย ถ้าเราใช้เงินผ่านโทรศัพท์ที่เป็นเหมือนอวัยวะอีกอันของร่างกายเรา … โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี “คิวอาร์โค้ท” จะทำให้การใช้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิมมาก และมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวอย่างรวดเร็ว

 

สังคมไร้เงินสด จะทำให้เกิดธุรกิจ และธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ

ข้อที่สาม “การเป็นสังคมไร้เงินสดป้องกันการฟอกเงินได้ด้วย”

เราคงเคยได้ยินข่าวเวลาที่ตำรวจจับผู้คนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะหาเงินได้มากๆ แต่เป็นเงินที่ไม่มีที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย … คนร้ายเหล่านี้มักจะเก็บเงินสดไว้ในบ้าน ไว้ในเซฟ แต่หากอนาคตบ้านเราเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จะสามารถตรวจสอบเส้นทางทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้อาชญากรทางการเงินทำงานยากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี … มันยังมีเงินอีกประเภทที่ยังไม่ถูกกฎหมาย คือ เงินประเภทเกิดใหม่ เช่น Bitcoin ที่ยังตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินลำบาก และอาจกลายเป็นแหล่งฟอกเงินแหล่งใหม่ได้เช่นกัน

ข้อสุดท้าย “สังคมไร้เงินสด จะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดต่ำลง”

คำว่า “ต้นทุนทางการเงิน” ในที่นี้หมายถึง ต้นทุนในการผลิตเงิน เคลื่อนย้ายเงิน … ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราต้องเคลื่อนย้ายเงินมากๆ มันจะยุ่งยากขนาดไหน การขนเงินสดจำนวนมากๆ นอกจากจะยุ่งยาก แถมยังอันตรายอีกด้วย แต่หากเราเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว การขนเงินอาจไม่จำเป็น หรือไม่มีอาชีพขนเงินอีกเลย จะทำให้ต้นทุนการขนเงินหมดไป ทั้งค่าน้ำมัน ค่าดูแลรักษาความปลอดภัยจะหายไปทันที

และถ้าเราไม่ใช้เงินสด ก็ไม่ต้องพิมพ์ธนบัตร ต้นทุนการพิมพ์ก็หายไปเช่นกัน … และบางทีเราก็อาจไม่ต้องใช้ตู้เอทีเอ็มอีกต่อไป สาขาต่างๆ ของธนาคารก็อาจไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงมากมายมหาศาล

สังคมไร้เงินสดจะดีจริงหรือไม่? ความจริงคงต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ หาคำตอบกันไป … แต่อะไรจะเกิดขึ้นบ้างถ้าเราไม่ใช้เงินสด ก็อาจจะเป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่สำคัญ “เราเตรียมตัวรับมือกันแล้วหรือยัง”